ชวนน้องหมา น้องแมวมาอาบน้ำ
ไม่มีอะไรดีไปกว่าการอาบน้ำเจ้าตัวโปรดทั้งเพื่อความสะอาด สวยงามและยังช่วยให้ผิวหนังและขนอ่อนนุ่ม เงางาม แข็งแรง การอาบน้ำนั้นจะช่วยกำจัดไขมัน เศษเซลล์ผิวหนังที่หลุดลอก (หรือเรียกง่ายๆว่าขี้ไคล) สะเก็ด สารต่างๆที่ขับออกจากผิวหนัง รวมทั้งสามารถขจัดสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกได้แก่ ละอองเกษรดอกไม้ ฝุ่น สิ่งสกปรกต่างๆ และยังลดการเกาะตัวของแบคทีเรียบนผิวหนังและขนได้อีกด้วย(1)
การอาบน้ำยังเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง พร้อมทั้งช่วยยืดระยะของผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์สารเคลือบเพื่อความชุ่มชื้นแก่ผิวต่างๆ(2) และแชมพูหลายชนิดยังถูกทำขึ้นมาเพื่อรักษาอาการต่างๆที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง และขนของสัตว์เลี้ยงได้อีกเช่นกัน
เราสามารถอาบน้ำสัตว์เลี้ยงได้เองไหม และควรอาบบ่อยแค่ไหนนะ?
ความถี่ของการอาบน้ำสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวนั้นขึ้นอยู่กับ ความต้องการเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์ สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมของสัตว์เลี้ยงนั้นๆ คุณอาจตัดสินใจอาบน้ำสุนัขของคุณเมื่อพบว่าพวกเค้าเริ่มมีกลิ่นตัว หรือมีผิวหนัง ขน ที่สกปรก ซึ่งส่วนมากจะเป็นความถี่ทุก 1 สัปดาห์ ในบางพื้นที่กรณีที่ไม่พบปัญหาสุขภาพผิวหนังขนที่ผิดปกติ คุณสามารถอาบน้ำสัตว์เลี้ยงได้ทุกเดือนเช่นกัน
หากพบว่าสัตว์เลี้ยงแสดงอาการของโรคผิวหนังเช่นภาวะภูมิแพ้หรือผิวหนังติดเชื้อ สัตวแพทย์จะช่วยแนะนำการเลือกแชมพูที่เฉพาะเจาะจงกับสภาพผิวหนังของสัตว์เลี้ยงของคุณ โดยการอาบน้ำเพื่อแก้ไขภาวะทางผิวหนังเหล่านี้มักทำหลายครั้งต่อสัปดาห์ จนกว่าผิวหนังของสัตว์เลี้ยงจะมีสภาพที่ดีขึ้น ในรายที่มีความต้องการแก้ไขภาวะเฉพาะเจาะจงเหล่านี้ การช่วยฟื้นฟูผิวหนังด้วยผลิตภัณฑ์เสริมความแข็งแรงของเกราะปกป้องผิว หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวก็สามารถให้เพิ่มขึ้นได้ในระหว่างการรักษา
ในกรณีแมวที่พบการเปลี่ยนสภาพผิวหนัง หรือพบการหลุดร่วงของเส้นขนนั้นมักเกิดจากปัญหาเริ่มต้นอื่นนอกเหนือจากผิวหนังโดยตรง ด้วยแมวเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมเลียขน ดูแลความสะอาดของผิวหนังและขนตัวเองอยู่ตลอดเวลา หากพบว่าแมวมีผิวหนัง ขน ที่สกปรก ไม่เรียบร้อยนั้นอาจแสดงให้เห็นว่าแมวนั้นอาจมีอาการป่วยซ่อนอยู่ ไม่แนะนำให้พยายามใช้กำลังฝืนอาบน้ำแมว แต่ให้การคอยสังเกตอาการอื่นๆ หรือพาแมวไปพบสัตวแพทย์หากพบว่าแมวมีผิวหนังที่เปลี่ยนไปจากปกติจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมมากกว่า
เลือกใช้แชมพูเด็กสูตรอ่อนโยนให้กับสัตว์เลี้ยงได้ไหม?
ทราบหรือไม่ว่าผิวหนังของคนเราและสัตว์เลี้ยงมีโครงสร้างที่แตกต่างกันหลายอย่าง ทั้งความหนาของชั้นผิวหนังส่วนบน ที่ในสัตว์เลี้ยงมีจำนวนชั้นที่น้อยกว่าของคน ค่า pH บนผิวหนังของสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ pH =7 ซึ่งสูงกว่าในคนที่มีค่า pH เท่ากับ 5.5 รวมทั้งความหนาแน่นของรูขุมขนในสัตว์เลี้ยงที่มีมากกว่า ทำให้ต้องการสารทำความสะอาดที่มีความเข้มขนเพียงพอที่จะขจัดสิ่งสกปรกออกไปได้อย่างหมดจด
ทั้งหมดนี้จึงทำให้แชมพูอาบน้ำทางการแพทย์จึงถูกออกแบบ และเลือกใช้ส่วนผสมที่เหมาะสม รวมทั้งผ่านการทดสอบการแพ้ และความปลอดภัย เพื่อมั่นใจในคุณภาพว่าควรเลือกใช้เป็นแชมพูสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ(2)
ก่อนที่จะอาบน้ำ
อย่าลืมที่จะแปรงขนสัตว์เลี้ยงให้ทั่ว เพื่อกำจัดเศษขนที่หลุดร่วง รังเค และแก้ไขเส้นขนที่พันกันเป็นสังกะตังก่อนการอาบน้ำ นอกจากจะเพื่อให้การอาบน้ำ สางเส้นขนที่ง่ายขึ้นแล้วยังจะช่วยให้คุณได้สังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นที่ผิวหนังของสัตว์เลี้ยงได้ก่อนอีกด้วย ที่สำคัญควรเตรียมพื้นที่การอาบน้ำที่ปลอดภัย เช่นหาแผ่นยางปูรองเพื่อป้องกันการลื่น และเพื่อช่วยลดความเครียดแก่สัตว์เลี้ยงระหว่างการอาบน้ำได้อีกด้วย
ขั้นตอนง่ายๆเพื่อแชมพูที่ใช่
แน่นอนว่าสัตว์เลี้ยงตัวโปรดของคุณไม่ว่าสุนัขหรือแมวหากได้ฝึกอาบน้ำตั้งแต่อายุน้อยๆก็มักจะไม่เกิดปัญหาการอาบน้ำในตอนโตมากนัก
ในระหว่างการอาบน้ำ ลองให้สัตว์เลี้ยงหันหน้าไปทางกำแพงห้องน้ำ เพื่อไม่ให้พวกเค้าใจจดใจจ่อกับการหาทางออก หรือพยายามพุ่งตัวไปที่ประตู เปิดน้ำให้ไหลปานกลางไม่พุ่งแรงจนสัตว์เลี้ยงอาจตกใจ อย่าให้น้ำอุ่น หรือเย็นเกินไป และค่อยๆใช้มือช่วยควบคุมทิศทางน้ำเมื่อต้องการล้างทำความสะอาดบริเวณหัว โดยระวังไม่ให้น้ำเข้าตาสัตว์เลี้ยง
เมื่อผิวหนังและขนชุ่มน้ำดีแล้ว ให้เทแชมพูลงไปฟอก โดยอาจเน้นให้อยู่ตรงบริเวณที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ แนะนำให้ทำการฟอกซ้ำสองครั้ง โดยครั้งแรกเพื่อหวังผลทำความสะอาด ขจัดสิ่งสกปรก และครั้งที่สองให้ออกฤทธิ์ต่างๆได้เข้าไปทำงานตามวัตถุประสงค์ได้ทั่วถึงทุกบริเวณ(2)
โปรดให้ความสำคัญในช่วงเวลาการฟอกครั้งที่สองให้มาก ควรทำการฟอกโดยใช้มือนวดแชมพูวนไปให้ทั่วไม่ต่ำกว่า 5-10 นาที เพื่อให้สารออกฤทธิ์ของแต่ละผลิตภัณฑ์ได้แพร่กระจายได้ทั่ว และออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ หลังจากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด อย่างน้อยอีกสองครั้งเพื่อมิให้แชมพูตกค้างอยู่บนผิวหนัง
อย่าลืมที่จะเป่าให้แห้งด้วยนะ!
เมื่ออาบน้ำเสร็จสิ้น ให้เช็ดตัวสัตว์เลี้ยงด้วยผ้าขนหนูที่แห้งสะอาด และอาจใช้ไดร์เป่าผมช่วยในการเป่าขนของพวกเค้าให้แห้งสนิท แต่ต้องระวังให้เลือกใช้ในโหมดลมแรงต่ำ ไม่ใช้ลมร้อน และเว้นระยะให้ห่างจากขนและผิวหนังของสัตว์เลี้ยงพอประมาณ คอยสังเกตบริเวณข้อพับต่างๆ หรือมุมอับต่างๆนั้นเเห้งดีหรือยัง เพื่อป้องกันปัญหาผิวหนังอักเสบ ติดเชื้อจากความอับชื้นได้
ในรายที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่นสุนัข หรือแมวที่มีภาวะภูมิแพ้ คุณสามารถอาบน้ำด้วยเเชมพูทางการแพทย์ให้พวกเค้าได้บ่อยขึ้น อาจเป็น 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
(1) Scott W D, Miller WH, Griffin CE. Small Animal Dermatology; 5th Edition 1995. Chapter 3:179-181.
(2) Carlotti DN Gatto H. The Art of shampoos in canine and feline dermatology: Part 1. UK VET. 2005; 10(2):1-4.