Porcine Circovirus 2 ในปี 2020

Score5 (6 Votes)

Porcine Circovirus 2 ในปี 2020

Porcine Circovirus 2 ในปี 2020

ประวัติความเป็นมา Porcine Circovirus
เชื้อไวรัส Porcine Circovirus(PCV) ถูกพบในปี 1974 ในเซลล์เพาะเลี้ยงจากไตสุกร โดยสมัยนั้นยังไม่ได้รับความสนใจเนื่องจากถูกรายงานว่าเป็นเชื้อไม่ก่อโรคในสุกร จนถึงปี 1990 พบการรายงานอาการป่วยในสุกรอนุบาลในประเทศแคนาดา มีอาการผอมโทรม หายใจกระแทก ตัวเหลือง และตาย กลุ่มอาการเหล่านี้ถูกเรียกว่า Post-weaning Multisystemic Wasting Syndrome (PMWS) จนถึง 1997 เริ่มมีการโต้เถียงถึงสาเหตุของ PMWS และพบว่า PCV2 เป็นเชื้อสำคัญในการก่อให้เกิดกลุ่มอาการดังกล่าว ต่อมาได้มีการค้นพบวัคซีน PCV-2 โดยมีผลในการ ลดอาการของโรค, อัตราการสูญเสียต่ำลง และเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต ตลอดจนเพิ่มสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)
 
แต่ในปัจจุบัน มีการรายงานว่าวัคซีนไม่สามารถคุมโรคได้ถึงแม้ว่ามีการฉีดวัคซีนไปแล้ว (Vaccine Failure) โดยเริ่มมีกล่าวถึงว่าอาจจะเกิดจากการที่เชื้อ PCV2 มีการกลายพันธุ์ เนื่องจากวัคซีน PCV2 ในท้องตลาดผลิตจากเชื้อ PCV2a เกือบทั้งหมด โดยมีการรายงานการตรวจพบ PCV2d เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันทั่วโลก โดยข้อมูลจาก Iowa State University ในประเทศอเมริการายงานว่ามีการตรวจพบ PCV2d มากกว่า 60% ตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นมากกว่า 80% ข้อมูลจากทางกลุ่มประเทศเอเชียได้รายงานในทางเดียวกันว่าพบการระบาดมากกว่า 68% และสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของประเทศไทยมีข้อมูลทางวิชาการจาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายงานว่าตั้งแต่ปี 2018-2019 ตัวอย่างทั้งหมดที่ส่งตรวจ ตรวจพบเชื้อ PCV2d
 
Pig 9.1-  400x221.jpg
อาการของโรค และกลไกการเกิดโรค
 
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย และพบว่าการทำวัคซีน PCV2 เป็นเพียงการลดโอกาสการเกิดภาวะ PCV2 systemic disease (PCV2-SD) แต่ยังไม่สามารถกำจัดโรคนี้ไปได้ (Infection Eradication) โดยอาการส่วนใหญ่ของสุกรที่ติดเชื้อจะเป็นลักษณะไม่แสดงอาการ subclinical disease(PCV2-SI) ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่ลดลงโดยที่ไม่แสดงอาการใดๆ
 
ภาวะ PCV2-SD จะพบอาการดังต่อไปนี้ น้ำหนักลด, ผิวซีด, พบอาการทางระบบหายใจ, ท้องเสีย บางครั้งพบภาวะดีซ่าน โดยจะพบในสุกรอายุ 30-180 วัน โดยส่วนใหญ่จะมีอาการให้เห็นในช่วงอายุ 60-90 วัน เมื่อผ่าชันสูตรซากจะพบความผิดปกติที่ ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย โดยจะมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือฝ่อได้ และเมื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบลักษณะ Lymphoid Depletion โดยจะพบการแทนที่ด้วยเซลล์ Histiocytes และ Multinucleated Giant Cells และอาจพบความผิดปกติในอวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ปอด ตับซีด มีจุดขาวที่ไตบน Renal Cortex  โดยกลุ่มของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับเชื้อ PCV2 จะเรียกรวมกันว่า  Porcine Circovirus Associated Disease (PCVAD) และจะมีชื่อเรียกตามกลุ่มอาการ เช่น PMWS, Porcine Dermatitis and Nephropathy Syndrome (PDNS) เป็นต้น
 
กลุ่มอาการ PCV2-RD (Reproductive Disease) พบได้ในขณะที่มีการติดเชื้อระหว่างแม่สุกรมตั้งท้องแล้วก่อให้เกิดความล้มเหลวทางระบบสืบพันธุ์ ที่แตกต่างกันไปตามระยะของตัวอ่อนสุกร (ตามตาราง)
 
2 - table.PNG
 
อาการทางคลินิกที่พบเกี่ยวกับ PCV2-RD ตามเวลาของระยะการตั้งครรภ์ (modified from Madson and Opriessnig, 2011)
 
กลไกการเกิดโรคของ PCV2 ขึ้นกับระดับภูมิคุ้มกัน สุขภาพของตัวสุกร และระดับของเชื้อไวรัส ตามภาพดังนี้ 
 
 
PCV2 infection model.jpg
 
ภาพที่ 1 โมเดลอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจของ PCV2 เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทั้งในแม่สุกร และสุกรขุน โดยมี 3 กลุ่มอาการคือ 1. แบบไม่แสดงอาการ (PCV2-SI), 2.แบบแสดงอาการทุกระบบ (PCV2-SD) และ 3.แบบแสดงอาการทางระบบสืบพันธุ์ (PCV-RD)
 

แต่อย่างที่ได้กล่าวข้างต้น PCVAD ที่ก่อความเสียหายหลักทางเศรษฐกิจในการเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน คือ แบบไม่แสดงอาการ (PCV-SI) โดยพบสุกรที่ผ่านการทำวัคซีนจะมีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ทำวัคซีน PCV2 30-70 กรัม/วัน ในส่วนของอัตราตาย พบว่ากลุ่มทำวัคซีน PCV2 มีอัตราการตายที่ต่ำกว่าเล็กน้อย ดังนั้นฟาร์มสุกรจึงควรใช้ค่าของ อัตราการเจริญเติบโตต่อวัน (ADG), ความสม่ำเสมอของฝูง, %การคัดทิ้ง เป็นดัชนีชี้วัดหลักในการประเมินความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับ PCV2 ในปัจจุบัน

Vaccination vs Non vacc.jpgภาพที่ 2 ความแตกต่างของการเจริญเติบโตของกลุ่มสุกรที่ทำวัคซีนและไม่ทำวัคซีนจำแนกตามระดับของภูมิคุ้มกัน (PCV2 Titre)

แนวทางการจัดการโรค
 
เนื่องจากโรค PCVD เป็นโรคที่มีสาเหตุจากหลายปัจจัย (Multifactorial disease) ประกอบกับเชื้อ PCV2 เป็นไวรัสที่มีอยู่ทั่วไปในฟาร์ม ในทางปฏิบัติจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะควบคุมหรือป้องกันปัจจัยร่วมได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามแนวทางที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการให้วัคซีน  สุกรที่ผ่านการให้วัคซีนป้องกันโรค PCVD ในฟาร์มที่เป็นโรค จะเห็นผลชัดเจนในการ เพิ่ม ADG และลด FCR และลดค่ายาในการรักษาและควบคุม ที่สำคัญคือ มีผลลดปริมาณเชื้อ PCV2 ในรอยโรคของสุกรป่วยที่เป็นโรค PMWS ได้อย่างเด่นชัด นอกจากนี้ยังพบว่าการทำวัคซีนในแม่สุกรพบว่าให้ผลในการเพิ่มประสิทธิภาพบนเล้าคลอดและมีส่วนในการลดการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก
 
1. วางโปรแกรมวัคซีนอย่างเหมาะสมกับแต่ละฟาร์มและการจัดการของฟาร์มนั้นๆ
2. เลือกใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะสมกับการจัดการ ได้แก่ วัคซีนที่มีเชื้อที่ตรงกับเชื้อที่พบในฟาร์ม มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคที่เร็วและยาวนาน 
3. ปลอดภัย ไม่แพ้ หรือไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์  
4. แม้ว่าวัคซีนจะให้ผลที่ดีมากในการป้องกันแต่มาตรการในการป้องกันและควบคุมปัจจัยร่วมในการก่อโรคยังเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะเรื่องการได้รับภูมิคุ้มกันจากนมน้ำเหลืองที่มากพอของลูกสุกรในเล้าคลอด เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อร่วม (ทั้งแบคทีเรียและไวรัส) โดยเฉพาะจากเชื้อ PRRSV ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมของการติดเชื้อ PCV2 ที่พบมากที่สุด ทั้งในช่วงอนุบาล และในช่วงขุนระยะแรก(สุกรเล็กและสุกรรุ่น) 

 

อ้างอิง
- กิจจา อุไรรงค์,(2555), โรคติดเชื้อไวรัสสุกร ภาคปฏิบัติ, พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์, หน้า 107-128
- หน่วยงานชันสูตรโรคสัตว์ กำแพงแสน (2019) The “KVDC” Annual Report 2018, พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะ   สัตวแพทยศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์, หน้า 21-22
- Figueras-Gourgues et al. (2019), Porcine Health Management, 2-8.
- Madson, D.M., Opriessnig,T., 2011. Effect of porcine circovirus type 2(PCV2) infection on reproduction: disease, vertical transmission, diagnostics and vaccination. Anim. Health Res. Rev.12, 47-65
- Seagales J. 2018. In the proceeding of IPVS2018., 58-59

 

 

ให้คะแนนสำหรับเนื้อหานี้: 5 4 3 2 1